วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคนิคปักครอสติชสำหรับมือใหม่





 เทคนิคการปักครอสติชสำหรับมือใหม่
            เคล็ดนี้เหมาะสำหรับมือใหม่จริงๆ นะคะ คือ ควรจะมีตัวอย่างวิธีการปักครอสติชรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบเต็มครอสติช แบบครึ่ง แบบหนึ่งส่วนสี่ รวมทั้งปมฝรั่งเศสเอาไว้ข้างๆ เสมอ เวลาปักจะช่วยให้ไม่สับสน และงงว่าควรจะปักไปทางทิศไหน และปักด้วยวิธีไหนกันแน่ ส่วนภาพสำเร็จของครอสติชที่คุณกำลังขะมักเขม้นปัก จะช่วยให้คุณติดตามผลงานได้ตลอดว่าคุณปักถึงไหนแล้ว รวมทั้งแนวโน้มว่าควรจะปักอย่างไรต่อไปที่แน่ๆ มือใหม่ควรจะเริ่มจากภาพเล็กๆ ก่อนนะคะจะได้ไม่หมดกำลังใจเสียก่อนจะปักเสร็จค่ะ
 การเลือกกรอบรูป และวิธีการใส่กรอบรูป
            การเลือกกรอบรูป และวิธีการใส่กรอบรูปจะช่วยทำให้ภาพปักครอสติชน่าดู และงดงามมากขึ้นนะคะ เพราะจะเป็นปัจจัยที่ส่งให้รูปปักครอสติชดูเด่นมากขึ้น เลือกกรอบรูปให้เหมาะกับชิ้นงานมากที่สุดทั้งชนิดภาพและโทนสีที่ใช้ ควรจะเข้ากับวัสดุ และสีของกรอบรูปที่เลือกใช้สำหรับครอสติชลายเล็กๆ บางครั้งการใช้กระดาษแข็งตัดเป็นกรอบด้านในทั้งวงกลม วงรี และเหลี่ยมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้พื้นที่รอบๆว่างโล่งๆ ไว้เฉยๆ ข้อควรระวัง ในทางกลับกันกรอบรูปที่ดูเด่นมากเกินไป ก็สามารถที่จะข่มภาพปักครอสติชได้เช่นเดียวกัน
 การทดลองทางเลือกใหม่ๆ
            การทดลองทางเลือกใหม่ๆ เพื่อปักภาพครอสติช อย่างเช่นการเลือกโทนสีที่แตกต่างออกไป จะช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับงานได้อย่างไม่น่าเชื่อตัวอย่างเช่น ภาพการ์ตูนโทนเทาดำ จะดูคลาสสิค และเหมาะกับการตกแต่งห้องที่มีโทนขาวดำ ภาพบุคคลเหมือนจริงโทนสีชมพู ก็จะดูอ่อนหวานโรแมนติค เหมาะกับห้องสบายๆ โทนอบอุ่น การเลือกทำครอสติชเฉพาะโทนสียังช่วยให้ประหยัดค่าไหมไปได้มากด้วยค่ะ
 การเก็บปลายด้าย
            การเก็บปลายด้าย สอดปลายด้ายไว้กับด้ายปักด้านหลังผืนผ้า ระวังอย่าโยงด้ายปักข้ามช่องใดๆ ที่จะไม่ปักครอสติช อย่าลืมว่าปลายด้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สีเข้มจะปรากฎเห็นเด่นชัดที่ด้านหน้านะคะ
 การกำหนดจุดกลางของลายปัก
            การกำหนดจุดกลางของลายปัก พับผ้าปักครึ่งในแนวนอน จากนั้นพับครึ่งอีกครั้งในแนวตั้งทำเครื่องหมายที่จุดกึ่งกลางนั้นการปักครอสติชให้เริ่มปักจากจุดกึ่งกลางออกไปทุกครั้ง โดยหาจุดกึ่งกลางของลายปักที่ลายปัก ซึ่งมักจะมีเครื่องหมายจุดกึ่งกลางลายไว้ทั้งในแนวตั้งแนวนอน 
 การทำความสะอาดผ้าปักครอสติชที่เสร็จแล้ว
            การทำความสะอาดผ้าปักครอสติชที่เสร็จแล้ว แช่ผ้าปักไว้ในน้ำสบู่อ่อนประมาณห้าถึงสิบนาที นำขึ้นจากน้ำ ปล่อยให้น้ำหยดออกแต่อย่าบิด วางผ้าปักลงบนผ้าขนหนูแห้ง แล้วม้วนเพื่อซับน้ำออกจนหมาด วางผ้าปักลงบนผ้าขนหนูแห้งโดยให้คว่ำลายลงด้านล่างแล้วรีดให้แห้งโดยใช้ไฟอุ่นๆ
 การประมาณขนาดภาพสำเร็จ
            การประมาณขนาดภาพสำเร็จ ให้หารจำนวนช่องของลายปักด้วยจำนวนช่องต่อนิ้วของผ้าปักทั้งด้านกว้างและด้านยาว แต่การเตรียมผ้าจะต้องตัดให้ใหญ่กว่าแบบทุกด้านอย่างน้อย 3 นิ้ว (หมายความว่าจะต้องบวกเพิ่ม 6 นิ้วสำหรับด้านกว้างและด้านยาวจากการประมาณขนาดภาพสำเร็จ) การเหลือริมผ้านี้จำเป็นมากสำหรับการใส่กรอบประดับผนัง แต่อาจจะลดลงได้อีกตามความเหมาะสมสำหรับงานครอสติชขนาดเล็กซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ทำเครื่องใช้อื่นๆ และควรเนาชายผ้าและกันชายผ้ารุ่ยไว้ด้วย

 เข็มที่ใช้ในงานปักครอสติช
            เข็มที่ใช้ในงานปักครอสติช ควรมีความแหลมคมง่ายต่อการปักขึ้นลง โดยไม่ทำให้เส้นด้ายที่ผ้าแตกสำหรับผ้าขนาดตา 11 ต่อนิ้วใช้เข็มเบอร์ 24 สำหรับผ้าขนาดตา 14 ต่อนิ้วใช้เข็มเบอร์ 24 หรือ 26 ผ้าขนาดตา 18 หรือมากกว่าต่อนิ้ว ใช้เข็มเบอร์ 26 อย่าทิ้งเข็มไว้ในผ้าปัก เพราะอาจจะทำให้เกิดสนิมหรือทำให้เกิดรอยปักไว้ที่ผ้าปัก
 ถ้าเส้นด้ายบิดเป็นเกลียวระหว่างปัก
            ถ้าเส้นด้ายบิดเป็นเกลียวระหว่างปักให้ปล่อยเข็มลงให้เส้นไหมที่บิดเป็นเกลียวคลายตัวออก ไม่ควรใช้ร้อยไหมยาวเกิน 18 นิ้ว เพราะมีโอกาสที่จะบิดเป็นเกลียวหรือเกิดปมได้ง่าย
 การคำนวณจำนวนไหม
            การคำนวณจำนวนไหมที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดผ้าที่ใช้ โดยทั่วๆ ไปแล้วสำหรับผ้าไอด้าตา 11จะใช้ไหม 3 ไจ, สำหรับผ้าตา 14 ใช้ไหม 2 ไจ ผ้าตา 18 ใช้ไหม 1 ถึง 2 ไจ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการลายปักที่หนามากน้อยเท่าใด
ด้วยความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก http://lotuscrossstitch.hypermart.net/crosstrick.htm